วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

ความรู้เกี่ยวกับดนตรีซึ่งกันและกันในโลกแห่งดนตรี ..โดยท่าน อ.อานันท์ นาคคง

ข่าวประจำวัน 13 ม.ค. 2558 16:41 วิพากษ์ AEC ผ่านมุมดนตรี “อานันท์ นาคคง” : เราหลงว่าเราดัง และดีกว่าเพื่อนบ้าน!? “เลิกเห่อความขลังของแกรมมี่ อาร์สยาม ในประเทศไทยได้แล้ว เราหลอกกันเองว่ามันดัง เราก็ต้องกลับมาถามตัวเองต่อไปว่า แล้วเรารู้จักอาเซียนยังไงบ้างผ่านมุมมองหรือเรื่องของดนตรี เราไม่เคยรู้จักเลยว่า จังหวะการเต้นที่สนุกๆ ของเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร อย่างเช่น “ดังดุด” ของมาเลย์ อินโดฯ มันเป็นยังไง คือเราก็จะไปแต่ k-pop อย่างเดียว” 1/5 รูป “เราอนุรักษ์ด้วยหน่วยราชการที่ไม่เคยเจ็บปวดจริงๆ และก็อนุรักษ์ด้วยงบประมาณ ไม่ได้ใช้หัวใจอนุรักษ์” บางช่วงตอนของการสนทนา บุคคลที่นั่งอยู่เบื้องหน้าของเรา เอ่ยประโยคนี้ขึ้นมา ภายหลังบอกเล่าเรื่องราวเมื่อคราวเป็นนักศึกษาที่ประเทศอังกฤษเกือบสามสิบกว่าปีก่อนและมีโอกาสได้อยู่ร่วม ทำกิจกรรมกับบรรดาเรฟูจี-ผู้ลี้ภัยจากดินแดนอินโดจีน “คนที่สิ้นไร้ไม้ตอกในทุกเรื่องแล้ว มันก็เหลือวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นตัวที่จะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจได้ เขาก็เอาดนตรีที่ดีที่สุดของเขา ที่เหลือรอดจากสงคราม มาเล่นมาเล่าเรื่องราวของพวกเขา” จากคำกล่าวข้างต้น เราคงตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ หากไม่ใช่ว่า ศิลปวัฒนธรรมนั้น คือสิ่งที่สะท้อนถึงซึ่งตัวตนและรากเหง้าของผู้คน ท่ามกลางบ้านเมืองที่ล่มสลาย ตึกรามบ้านช่องพังย่อยยับ หากแต่เมื่อเสียงแคนถูกเป่าขึ้น ที่อยู่ที่ยืนของ “ตัวตน” และ “พื้นเพที่มา” ก็พลันเฉิดฉายเจิดจ้าโดยไม่จำเป็นต้องเปล่าเปลืองถ้อยคำอธิบายว่าเป็นใครมาจากไหน ในทำนองเดียวกัน เอ่ยเชื่อ “อานันท์ นาคคง” สำหรับผู้คนในแวดวงดนตรี ก็คงไม่ต้องมีคำอธิบายใดให้ยืดยาวเช่นกัน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาจารย์อานันท์กับบทบาทในด้านดนตรี เป็นที่ปรากฏชัด นอกเหนือจากบทบาทในฐานะครูบาอาจารย์ด้านดนตรีที่เชี่ยวชาญในทฤษฎีมานุษยวิทยาดนตรี อาจารย์วัยย่างห้าสิบปีผู้นี้ ยังทำหน้าที่อีกหลายภาคส่วนอันหลากล้วนเกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คน โดยบทบาทหน้าที่หนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา คือการเป็นตัวแทนประเทศไทย ทำหน้าที่กรรมการบริหารวงออเคสตราอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea Traditional Orchestra, AKMO) เป็นวงดนตรีที่เกิดจากการร่วมงานระหว่างนักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักวิชาการดนตรี ช่างทำเครื่องดนตรี และสื่อมวลชนดนตรีจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศรวมถึงเกาหลีใต้ ตั้งวงออเคสตราขนาดใหญ่ 80 ชิ้น ประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองอาเซียนทุกประเทศ สร้างสรรค์งานเพลงใหม่ร่วมกัน สร้างองค์ความรู้ใหม่ทางดนตรีอาเซียนกับโลกปัจจุบัน และเปิดการแสดงบทเพลงอาเซียนสู่สาธารณชน (ในปี 2554 วงดนตรีวงนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Asian Traditional Orchestra, ATO โดยเพิ่มสมาชิกจากประเทศจีนและญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย) ในขวบปีที่เออีซีกำลังมา ในวาระที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความมั่นคง เป็นประเด็นระดับชาติที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ กระนั้นก็ดี ในส่วนของศิลปวัฒนธรรม ดูเหมือนจะมีเพียงเสียงพึมพำงึมงำไม่รู้ยังไง และนั่นก็คือเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้เราเดินเข้าไปหา “อาจารย์อานันท์” เพื่อสนทนาในเรื่องดังกล่าว มันอาจไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด มันอาจไม่ใช่คำตอบซะทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุด เราเชื่อว่าบทสนทนาถัดจากนี้จะทำให้เห็นภาพบางภาพ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ต่อเติมจินตนาการความคิด เพื่อร่วมกันพินิจทิศทางที่เราจะย่างก้าวไปด้วยกัน ในนามของเออีซี ผ่านมุมมองของศิลปะดนตรี และมานุษยวิทยาดนตรี... • ถามแบบไม่มีพื้นความรู้มาก่อนเลย มานุษยวิทยาดนตรี คืออะไรครับ มานุษยวิทยาดนตรี หรือเอธโนมิวสิกโคโลยี Ethnomusicology เป็นสาขาหนึ่งของวิชามานุษยวิทยา หรือ Anthropology ที่เน้นการอธิบายเรื่องราวของมนุษย์ผ่านสิ่งที่เราเรียกว่าดนตรี และมันไม่ใช่แค่ดนตรีที่รับใช้ความบันเทิง มันมีความหมายลึกกว่านั้น มานุษยวิทยาดนตรีเริ่มต้นมาจากฝรั่งยุคหนึ่งยุคปลายอาณานิคม เขาเดินทางไปในโลกกว้าง และค้นพบว่า ดนตรีที่น่าสนใจ มันไม่ได้มีแค่อาร์ตมิวสิก (Art Music) หรือดนตรีคลาสสิกเท่านั้น ปกติ ฝรั่งมักจะคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ตลอด ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม ก็สะท้อนมุมมองและพฤติกรรมนี้มาตลอดยุคอาณานิคม ทีนี้ พอค้นพบสิ่งที่แตกต่างเข้าแล้ว เขาก็เริ่มรู้สึกว่าดนตรีอินเดีย ดนตรีจีน หรือดนตรีของพวกที่อาจจะเรียกว่า “คนเถื่อน” ในสายตาของเขา จริงๆ มันมีระบบที่ซับซ้อนมากกว่าที่เขาคิดเยอะ แต่ก็ไม่รู้จะเรียกดนตรีพวกนี้ด้วยคำอะไร ก็เลยเรียกว่าเป็นพวกเอธนิกมิวสิก (Ethnic music) คือดนตรีของพวกชนเผ่า ทั้งๆ ที่เมื่อห้าพันปีที่แล้ว อินเดีย ชนเผ่าของพวกเขามันยิ่งใหญ่มาก หรืออย่างจีน เขาคิดอะไรได้ก่อนพวกฝรั่งอาณานิคมจะคิดได้อีก อย่างการทำตัวหนังสือขึ้นมาก่อนฝรั่งทำ หรือมีความรู้ในเรื่องการทอผ้าที่ละเอียดอ่อนมาก จนฝรั่งตกใจ ต้องมามีเส้นทางค้าไหม (Silk Road) ในยุคต่อมา ดนตรีของคนเถื่อนพวกนี้มันไม่มีระบบ บางทีไม่มีตัวโน้ต แต่เล่นกันเป็นสองสามชั่วโมงได้ มันสามารถที่จะอิมโพรไวส์กันได้ไม่รู้จบ ซึ่งฝรั่งนี่ ถ้าไม่มีโน้ตมาวางข้างหน้า ไม่มีคอนดักเตอร์ ควบคุม ก็ไปไม่เป็นเหมือนกันนะ เขาก็เลยมาสนใจ และเทคนิควิธีการเรียนรู้ ก็คือต้องไปรู้จักเจ้าของวัฒนธรรม มันไม่มีความรู้เหล่านี้อยู่ในตำราหรือในห้องเรียน ก็เลยต้องทำให้คนต้องเดินทาง คำถามต่อมาก็คือ แล้วจะไปรู้จักกับเจ้าของวัฒนธรรมดนตรีของเขาได้อย่างไร ถ้าพูดภาษาเขาไม่เป็น ถ้าไม่เข้าใจที่มาที่ไปในเชิงประวัติศาสตร์ เชิงการเมือง ความเชื่อ จะรู้จักเขาได้อย่างไร เรื่องของดนตรีบางทีมันไม่ได้อยู่ที่การเล่นเพียงอย่างเดียว อย่างของดนตรีไทยเรา มันเริ่มตั้งแต่การอยู่กับดนตรี แล้วคุณไหว้เครื่องดนตรี นั่นคือคุณเริ่มเพอร์ฟอร์มแล้วนะ เสียงมันไม่เกิด แต่วัฒนธรรมมันเกิด ซึ่งฝรั่งอาจไม่รู้ว่าทำไมต้องไหว้ แล้วทุกปีก็ยังต้องมีเชิญครูหรือเทวดามารับอาหาร อันนั้นก็คือส่วนหนึ่งของการเพอร์ฟอร์ม เพราะฉะนั้น มันก็เลยต้องไปอยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมที่แตกต่าง แล้วก็เรียนรู้ และวิชาที่ทำให้เขาเข้าใจคนได้ ก็คือวิชามานุษยวิทยา ซึ่งเป็นความรู้ที่ทำให้มนุษย์เข้าใจมนุษย์ ยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ แล้วก็อยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่างนั้น แล้วมันก็มีสาขาที่หลากหลายมาก มีทั้งความรู้เรื่องภาษาที่แตกต่าง ศิลปะที่แตกต่าง กฎหมายที่แตกต่าง ศาสนา การแพทย์ก็เป็นเรื่องของมานุษยวิทยาได้ เพราะอย่างเราป่วย เราไม่ได้ไปแค่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เรามีวิธีรักษาตัวเองด้วยการเอาใบไม้มากิน เอาเปลือกไม้มาเผาและทำอะไรต่อมิอะไร ทีนี้ มาถึงเรื่องทางดนตรี ในแง่มานุษยวิทยาดนตรี เราใช้ดนตรีเป็นประตูที่นำไปสู่การรู้จักกับมนุษย์ ขณะเดียวกัน เราเห็นมนุษย์ เราก็สามารถที่จะคัดกรองว่าอะไรที่หล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนั้น มีบุคลิกภาพแบบนั้น มีความคิดอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น ทหาร ทำไมจะต้องฟังแต่เพลงปลุกใจ ทำไมจะต้องกำหนดชีวิตด้วยจังหวะมาร์ช มันสนุกแบบอื่นไมได้หรือ เหตุผลก็เพราะว่าเขาต้องการวินัย เขาต้องการแนวคิดอะไรบางอย่างที่ปลุกใจ เพราะฉะนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักมนุษย์ได้ผ่านเสียงดนตรี หรือผ่านพฤตกรรมที่เขามีต่อดนตรี ผ่านแนวคิดอะไรบางอย่าง เช่น ทำไมวัยรุ่นต้องมีอาคูเลเล่เป็นอุปกรณ์ประดับชีวิต • ยกตัวอย่างมาแล้ว ถามเพิ่มเติมครับว่า นักมานุษยวิทยามองอาคูเลเล่ชิ้นเดียวนี้ว่าบอกอะไรเราได้บ้าง อูคูเลเล่มันเป็นสไตล์ชีวิตหนึ่งของคนเมืองที่บริโภคความฝัน อยากจะค้นคว้าโลกใหม่ ชีวิตใหม่ การเดินทางใหม่ มันไม่ใช่กบฎเข้มข้นแบบพวกฮิปปี้โบราณแล้วล่ะ แต่มันเป็นกบฎอย่างอ่อนที่อยู่ภายใต้โลกทุนนิยม ไม่อยู่ในขนบกฎเกณฑ์ของการเล่นกีตาร์ เล่นเปียโน ดีดจะเข้ ตีขิม ตามปกติ คุณมีอูคูเลเล่ เล่นได้แค่สามสี่คอร์ด คุณเดินทางไปรอบโลกได้แล้ว แล้วขนาดของมันก็เล็กและเบา มันสามารถที่จะอยู่กับชีวิตนักท่องเที่ยวได้ ยุคหนึ่งเราก็จะเห็นคนแบกเป้แล้วก็มีอูคูเลเล่ติดตัวไปโน่นมานี่ มันก็ทำให้เราพอมองเห็นความเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากเผชิญโลก ดนตรีมันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอิทธิพลมาก หัวใจของมันคือเสียง จังหวะก็คือคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตัวโน้ตก็คือคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นโดยความแตกต่างระดับสูงต่ำสั้นยาวเบาแรง ดังนั้น เราก็จะใช้ตรงนี้ในการเรียนรู้หรือทำความรู้จักกัน เป็นการทำความเข้าใจสังคม ทำความเข้าใจคน ที่สำคัญ นักมานุษยวิทยาดนตรีไม่ได้จำกัดว่า ดนตรีจะต้องเป็นตัวโน้ตอย่างเดียว โรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นดนตรี เราเดินไปตามถนน ได้ยินเสียงแม่ค้าขายของ เสียงการจราจร เสียงอุบัติเหตุ อันนั้นก็คือดนตรีของสังคมเช่นกัน แต่ไอ้ที่เราเรียกกันว่า มิวสิก Music อันนั้นคือโลกส่วนน้อยมากๆ โลกมันใหญ่กว่านั้น แล้วเสียงในโลกมันมาปรากฏตัวในรูปแบบของเสียงมิวสิก มีไม่ถึงเศษหนึ่งส่วนสิบด้วยซ้ำ แล้วมิวสิกพวกนั้น ส่วนใหญ่ก็จะถูกพวกดัดจริตพวกหนึ่งคิดว่ามันจะต้องสวยงาม ต้องมีตัวโน้ตที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ รายการที่ผมจัด ก็จะมีเสียงนก เสียงหมา มีเสียงมอเตอร์ไซค์ เราอยู่กับมัน เราสนใจในมิติทางเสียง แล้วก็เป็นเสียงที่เล่าเรื่อง เป็นเสียงที่สื่อสาร ให้เราโยงถึงชีวิต สังคม วัฒนธรรม การเมือง ความเปลี่ยนแปลง • เอาเป็นว่าปีนี้ สมาคมอาเซียนกำลังจะมาถึงแล้ว อาจารย์มองเห็นความเป็นไปได้อย่างไรบ้างในแง่ของดนตรี หรือกระทั่งว่ามานุษยวิทยาดนตรีจะเสริมส่งอย่างไรต่อการรวมกันของอาเซียน จุดขายช่วงนี้มันอยู่ที่นักการเมือง นักธุรกิจ เขากำหนดให้อาเซียนมาเป็นประชาคมเศรษฐกิจใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่ คนในพื้นที่นี้หลอมรวมกันมานานแล้ว ดนตรีที่อยู่ในภูมิภาคนี้ มันแลกเปลี่ยนกันมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว แล้วก็ผ่านวิกฤตกันมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการรบกันเอง การแย่งชิงความสำคัญกันเอง การถูกพวกเจ้าอาณานิคมที่เข้ามายุติมันบ้าง เบี่ยงเบนมันบ้าง ดนตรีมันก็เกิดมันก็ดับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มันอยู่ด้วยการถูกทดสอบมาโดยตลอด ปีนี้มาสนใจกันก็เพราะว่านักการเมืองอยากจะมีพื้นที่ในการต่อรอง นักธุรกิจอยากจะมีโมเดลการค้าใหม่ ก็สถาปนาสมาคมอาเซียนกันขึ้นมา แต่เรื่องศิลปวัฒนธรรม เขาเป็นโลกที่แลกเปลี่ยนกันอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีนักการเมืองหรือนักธุรกิจเข้ามาตั้งเออีซี มันก็พร้อมที่จะตายและเกิดใหม่อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องมีกฎบัตรอาเซียนอะไรมาจัดการ ยิ่งกว่านั้น เราก็ไม่มีความจริงใจในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมในวิถีของเออีซีอยู่แล้วด้วย ถ้าพูดแบบไม่เกรงอกเกรงใจกันนะ ความพยายามที่จะสร้างประชาคมที่มีสามเสาหลัก เสาหลักแรกชื่อ “มั่นคง” ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) อยากจะให้รักกันแต่ความขัดแย้งยังมีอยู่ มันไม่เคยไว้ใจกันได้หรอก ทั้งที่เป็นพี่น้องกันอะไรกันก็ตาม เสาหลักที่สอง ชื่อ “มั่งคั่ง” ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ที่มาส่งผลให้ปีนี้ที่ถูกตั้งว่าเป็นปีแห่งการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นเรื่องของโลกอุตสาหกรรม สินค้าโหลๆ ที่รับใช้แมสมากกว่าที่จะรับใช้คนเล็กๆ แล้วทำไปทำมา เสาที่น่าสงสารที่สุด คือเสาสุดท้าย “มิตรภาพคน” เรื่องของสังคมวัฒนธรรม ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือ ASCC) คือเราก็พยายามจะบอกว่า เฮ้ย เราต้องสนใจดนตรีอาเซียนนะ ต้องสนใจศิลปวัฒนธรรมอาเซียนนะ แต่มันถูกเอามาใช้ในเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เอามาใช้ในเรื่องของการเรียนรู้อย่างฉาบฉวยมากกว่าที่จะเรียนรู้ในเรื่องที่ลึกซึ้ง อย่างพวก อบต.หรือองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ หรืออะไรก็ตาม กระทั่งครู ตอนนี้ก็บ้ากันใหญ่ ต้องมีงบประมาณพัฒนาความรู้เรื่องอาเซียน ก็ไปดูงานกัน นักวิชาการก็เห่อเขียนงานวิจัยกัน นักการศึกษาเขียนหลักสูตรกัน ทุกโรงเรียนต้องมีอาเซียน ถึงจะเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพได้ แต่ทุกอย่างมันอยู่ในหน้ากระดาษ อยู่ในเรื่องที่ผิวเผิน แต่ลึกๆ เขาไม่เคยไปสนใจหรอกว่า เขมรด้วยกัน มันมีอยู่กี่เขมร คำว่าดนตรีไทย มันก็ไม่ใช่อยู่แค่ระนาด ปี่พาทย์ มโหรีเท่านั้น คำว่าปี่พาทย์ เขมร ลาว เขาก็มีมานานแล้ว ถ้าจะสอนดนตรีไทยเพื่อให้เข้าใจความเป็นอาเซียนด้วยนี่ คุณสามารถที่จะยอมรับได้ไหมว่า แคนคือส่วนหนึ่งของดนตรีไทย สะล้อซอซึง ร็องเง็ง บางทีราชการก็ไม่ยอมรับ ก็จะเชิดชูอยู่อย่างเดียวว่า ดนตรีราชสำนักคือดนตรีไทย แล้วก็มีคนไม่กี่คนที่จะรู้จักมัน อย่างระนาด ถามว่าคนไทยหกสิบล้านกว่าคน ตีระนาดเป็นสักกี่คน ถึงล้านมั้ย ไม่น่าจะถึง เอาแสนคน ก็ไม่น่าจะถึง หมื่นหนึ่งก็อาจจะมี แต่ที่จะเก่งแบบขุนอินนี่จะมีถึงร้อยคนหรือเปล่า อาจมีไม่ถึงสิบคน เทียบอัตราส่วนกับประชากรทั้งประเทศแล้วเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก คือมันไม่ได้รับใช้คนไทยจริงๆ แต่ว่ามันรับใช้นโยบายบางส่วนของพวกราชการที่มากำหนดชะตาชีวิตคน อย่างนี้แล้วจะเรียกมันว่าดนตรีไทยได้อย่างไร รัฐไทย-ราชสำนักไทยเราพยายามที่จะสถาปนาอำนาจกันมาตลอดบนการดูถูกคนอื่น แล้วเราก็สร้างเอกลักษณ์สมมติขึ้นมา บอกว่าสิ่งนั้นคือตัวแทนของเราเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พอเราไปเห็นเขมรตีอย่างนี้ (ชี้ไปที่ระนาด) แล้วเราไปเห็นลาวตีอย่างนี้ เราก็ยี้ เห็นเขาตีระนาด เล่นเพลงที่เราคุ้นหูบนระนาดของเขา บางทีก็อาจจะบอกว่าเอ๊ะเขาเอาของเราไปหรือเปล่า ซึ่งไม่เคยเข้าใจเลยว่า คำว่า “เรา” มันต้องประกอบไปด้วย “ฉัน” กับ “เธอ” หรือ “กู” กับ “มึง” ถึงจะเป็น “เรา” แต่ว่าส่วนใหญ่จะพูดถึงแบบว่า ของเรา แปลว่า “ของกู” โดยเฉพาะคนไทย นักดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย เลวที่สุดก็คือคนที่พูดว่า “ของเรา" แล้วก็โกรธมากที่เขมรเขามีโขนแล้วไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลก เรายอมไม่ได้ เราจะต้องมีนโยบายในการสนับสนุนโขนให้เป็นมรดกโลกกันบ้าง ทุ่มงบประมาณกันทุกปีเท่าที่เห็น ดนตรีไทยต้องเป็นมรดกโลก เพลงไทยนี่ถูกเขมรถูกลาวลอกเลียน ก็คิดว่าเป็นสงคราม แย่งชิงกันไป ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน มันไม่ได้มีพรมแดน และมันก็ไม่ได้มีเจ้าของที่แท้จริง เรามีศาสนาเดียวกัน อย่างเช่น เพลง “สาธุการ” มันก็เป็นเสียงที่ใช้แทนการไหว้พระ ถ้าเสียงธรรมดา บางที บรรยากาศมันไม่ใช่ มันก็ต้องเอาปี่พาทย์ไปบรรเลง ทีนี้ พอเราไปทึกทักว่าระนาดเป็นตัวแทนของไทยและมีสิทธิ์ที่จะตีเพลงสาธุการได้เท่านั้น เวลาเราเห็นเขมรเขาทำ ลาวเขาทำ เราก็จะโกรธ บอกว่าพวกนี้ลอกเลียนของไทยไป ก็พยายามไปหาประวัติศาสตร์ใหม่กันว่าดนตรีไทยไปเข้าถึงเขมรเมื่อไหร่ หรือดนตรีไทยไปครอบงำลาวตั้งแต่ยุคไหน หลังยุครัฐชาติก็จะมีฮีโร่ที่ถูกผลิตขึ้นมาในสังคมดนตรีนาฏศิลป์ไทยเยอะ ฮีโร่ที่ดังมากคนหนึ่ง คือครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ก็โดนพวกนักวิชาการหลอกว่า คนนี้นี่แหละ ไปสอนดนตรีไทยที่เขมร เขมรลอกเพลงหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งมันบ้าไปแล้ว เพราะจริงๆ ดนตรีมันข้ามภูเขา ข้ามแม่น้ำ ถ่ายเทถึงกันตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะหาใครดี ก็เอาตาคนนี้แล้วกัน โดยที่เราไม่เอาใจใส่ว่าคนเขมรเขาจะคิดต่อคนชื่อหลวงประดิษฐไพเราะยังไง ยิ่งพอมีหนังโหมโรง-ละครโหมโรงมาเน้นความยิ่งใหญ่ของท่านในฝั่งไทย ก็ยิ่งน่ากลัว • โหมโรงอุปโลกน์ฮีโร่ดนตรีไทยในอาเซียนขึ้นมา? โหมโรงเป็นปรากฏการณ์ป็อปคัลเจอร์ ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่หลอกลวงให้คนดูเสพมายาที่เรียกว่าเรียลิตี้โชว์ (Reality show) ผ่านฉากสมมติ เห็นนายศรตีระนาดชนะขุนอินแล้วแหม สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ไม่ต่างจากลุ้นการประชันขันแข่งของนักร้องเพลงป็อปในรายการเดอะสตาร์ อคาเดมีแฟนเทเชีย ไทยแลนด์ ก็อตทาเลนต์ เดอะวอยซ์ แต่เราไม่รู้สึกตัวน่ะ พอเอาประวัติศาสตร์ดนตรีไทย ดนตรีอาเซียนมามิกซ์กันไปมา หลวงประดิษฐ์ไพเราะยิ่งกลายเป็นเทพเข้าไปใหญ่ ทั้งๆ ที่แกก็คือคนธรรมดา แล้วท่านก็ไม่ได้แต่จะต้องเล่นดนตรีประชันหรือตีระนาดไล่กวดเปียนโนในฉากหนัง แต่ท่านทำอีกมากมาย ท่านฟังเพลงทุกอย่าง งานเพลงของท่านก็เคารพลาว เขมร พม่า ญวน แขก โดยไม่ต้องไปบังคับให้ท่านทำงานเอาใจนักการเมืองหรือนักธุรกิจ แต่ว่าทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้น คนดนตรีไทยรุ่นใหม่ คนนาฏศิลป์รุ่นใหม่ ทำงานเพลงอาเซียนมั่วๆ กันเยอะแยะ แล้วก็ต้องทำให้เป็นป็อปคัลเจอร์ สนองนโยบายบ้าๆบอๆ งบประมาณไร้สาระ • มาถึงตรงนี้ คำถามคือ แล้วเออีซีกับเรื่องดนตรี ควรไปในทิศทางไหน? ก็อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันอย่างระมัดระวังยังไง หรือว่าเราจะมีวิธีการอย่างไร และ “เรา” ที่ว่านี้คือใครด้วย ถ้าเราเป็นกูอย่างเดียว แล้วเราไม่เข้าใจมึงนี่ ลำบากนะ เขมรเองก็ต้องเข้าใจดนตรีไทยด้วย หรือลาว หรืออินโดนีเซีย ก็ต้องเข้าใจดนตรีของกันและกัน แต่ที่น่าสะพรึงกลัว คือ เราไม่เคยสำรวจเลยนะว่างานวิชาการที่ออกมา ที่เป็นเรื่องของความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน ทั้งงานศิลปะ ดนตรี งานนาฏกรรม วรรณกรรม มีเท่าไหร่ งานวรรณกรรมอาจจะพอมี เพราะฉะนั้น เราก็เลยไม่รู้ว่า องค์ความรู้อาเซียนด้วยกันเอง เขมรเขียนตำราดนตรีไทยอย่างไร ลาวเขียนตำราดนตรีไทยยังไง หรือพม่าเขียนถึงไทยอย่างไร แล้วบางที เราก็โดนหลอกลวงด้วยนิยายประวัติศาสตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยจินตนาการมากมายเกี่ยวกับสงครามการต่อสู้ อย่างเช่น พม่าบุกไทย ต้องมีวีรบุรุษขี่ช้างไปเพื่อรักษาอิสรภาพ แล้วตอนหลัง พม่าก็ทำให้เสียกรุง เราก็เจ็บช้ำ แล้วก็บอกอีกว่า มีศิลปินไทยถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึก อะไรพวกนี้ แต่เราเอาภาพของสงครามโลกมาสวมทับ ไม่มีใครสนใจไปดูจริงๆ ว่า วิถีชีวิตของเชลยศึกสยามในพม่า ตอนนี้มันถูกเล่าผ่านอะไรและแบบไหน แล้วก็ร่องรอยที่ส่งผ่านกันมา เช่น เรื่องของเพลงที่เรียกว่าโยเดีย (Yodaya) ดนตรีโยเดียเป็นดนตรีที่พม่าบอกว่าได้รับจากคนสยาม แล้วมีใครฟังโน้ตโยเดียกันบ้างมั้ยว่า มันมีความรู้สึกยังไง เซนส์ของเสียงมันเป็นอย่างไร เมื่อสองสามปีก่อน ผมนำครูดนตรีจากพม่าซึ่งเป็นนักดีดพิณมาเล่นเรื่องโยเดีย เพลงโยเดีย มันเป็นเพลงรักลึกซึ้ง เพราะหวาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนเกลียดกันจะถ่ายทอดเพลงเป็นร้อยๆ เพลงแล้วก็จำไว้ในสมองโดยไม่ต้องเขียนโน้ต ซึ่งยุคที่กรุงแตก มันหลายร้อยปีแล้ว แล้วมันส่งมากี่เจเนอเรชันกว่าจะมาถึงครูคนนี้ ........................................................................ "เลิกเห่อความขลังของแกรมมี่ อาร์สยาม ในประเทศไทยได้แล้ว เราหลอกกันเองว่ามันดัง เราก็ต้องกลับมาถามตัวเองต่อไปว่า แล้วเรารู้จักอาเซียนยังไงบ้างผ่านมุมมองหรือเรื่องของดนตรี เราไม่เคยรู้จักเลยว่า จังหวะการเต้นที่สนุกๆ ของเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร อย่างเช่น “ดังดุด” ของมาเลย์ อินโดฯ มันเป็นยังไง คือเราก็จะไปแต่เคป็อป K-Pop อย่างเดียว" • เหมือนอาจารย์จะบอกว่า เราควรยุติการคิดแบบแบ่งแยกว่าสิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่ของเรา หรือของ “กู” กับ “มึง” คือผมมองอย่างนี้ว่า คนไทยกับกัมพูชาหรือคนชาติอื่นๆ ในแถบเพื่อนบ้าน ก็แลกเพลงกันมาตลอด แลกเครื่องดนตรีกันมาตลอด คนฟังคนเล่นอาจจะมีเทคนิควิธีหรือการมองความงามแตกต่างกัน แต่ศิลปะมันเดินทางถึงกันตลอด แต่เราเลือกที่จะเอาดนตรีบางอย่างแล้วกำหนดว่าเป็นดนตรีไทย แล้วกีดกันสิ่งอื่นๆ ออกไป แบบเรียนดนตรีไทยของกรมศิลปากรและกระทรวงศึกษาธิการทุกวันนี้ยังรังเกียจขิมอยู่ เพราะบอกว่ามันเป็นเครื่องดนตรีต่างชาติ จีน วงดนตรีไทยมาตรฐานจะไม่เอาขิมมาใส่ มันไม่ใช่เรื่องของการดูถูกขิม แต่มันดูถูกคนจีนที่มากับขิม เพราะพวกนี้จะเป็นจีนโพ้นทะเล เป็นพวกไพร่ ไม่ใช่จีนวังหลวงหรือพวกจีนฮั่นที่เราต้องส่งใบไม้ทองไปจิ้มก้อง แต่จีนที่พูดถึงมันเป็นจีนที่ตีขิมกันอยู่ตามโรงงิ้ว ถ้าเอาขิมมาใส่อยู่ในมโหรีหรือดนตรีราชสำนัก โอ้โห มันสะอิดสะเอียนน่ะ มันดูแล้วรู้สึกว่าทำให้หม่นหมอง คือเราก็รังเกียจเพื่อนบ้านอยู่ในที อาเซียนกับโลกดนตรีไทย มันเป็นโลกย้อนแย้งกันมาตลอด ตอนนี้ดนตรีไทยก็ใช้กรรมแล้ว คือไม่มีใครแคร์แล้ว คิดเหรอว่าเขมรลาวเวียดนามพม่าเขาจะแคร์ดนตรีไทยเดิม หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ครูมนตรี ขุนอิน ฟองน้ำ กอไผ่ สุนทราภรณ์ สุเทพ สุรพล ชื่อพวกนี้ไม่มีความหมายอะไรหรอก พวกพ่อค้าเทปอาเซียนอาจแคร์ธุรกิจดนตรีฝั่งไทย แต่แคร์เพราะธุรกิจไทยมันมีอิทธิพลมืดอะไรบางอย่างที่ต้องฝ่าไปให้ได้ ตอนนี้พ่อค้าเทปในประเทศอื่นๆ เขาก็สร้างศิลปินป็อปของเขากันสำเร็จโดยไม่ต้องไปกลัวเบิร์ด เสก โลโซ ปาน ธนพร นิวจิ๋ว ใบเตย พวกนี้ไม่มีความหมายอะไรจริงจังหรอกในตลาดอาเซียนอนาคต กล้าพูดได้เลย เลิกเห่อความขลังของแกรมมี่ อาร์สยาม ในประเทศไทยได้แล้ว เราหลอกกันเองว่ามันดัง เราก็ต้องกลับมาถามตัวเองต่อไปว่า แล้วเรารู้จักอาเซียนยังไงบ้างผ่านมุมมองหรือเรื่องของดนตรี เราไม่เคยรู้จักเลยว่า จังหวะการเต้นที่สนุกๆ ของเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร อย่างเช่น “ดังดุด” ของมาเลย์ อินโดฯ มันเป็นยังไง คือเราก็จะไปแต่ K-Pop อย่างเดียว • ที่ผ่านมา เห็นว่าอาจารย์ก็ไปมีส่วนร่วมกับวงดนตรีอาเซียนวงหนึ่งซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้กันและกันระหว่างประเทศสมาชิกด้วย อยากให้ช่วยเล่าถึงตรงนี้สักหน่อยครับ คือผมได้รับเลือกจากรัฐบาลส่งไปเกาหลีเพื่อจะทำวงออเคสตราวงหนึ่งขึ้นมา เรียกกันว่าเป็นวงอาเซียน เทรดิชันนัล มิวสิก ออเคสตรา ASEAN Traditional Orchestra ซึ่งเป็นวงออเคสตราขนาดใหญ่ ไม่มีไวโอลินสักตัว ไม่มีเปียโน แต่มีดนตรีของอาเซียนหลายๆ ชิ้น ซึ่งโจทย์มีอยู่ว่าทำยังไงเราจะเล่นด้วยกันได้ เพราะเราไม่เคยมีออเคสตราแบบนี้เลย เพราะฉะนั้นก็เกิดโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2008 แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นออเคสตราอย่างสมบูรณ์แบบ นักดนตรีที่มานั่งเล่น พวกหนึ่งก็เป็นพวกพุทธ พวกหนึ่งเป็นอิสลาม อีกพวกเป็นคริสต์ อีกพวกเป็นพวกหมอผีที่เล่นดนตรี ก็มาอยู่ด้วยกัน ถามว่านักดนตรีพวกนี้คือใคร อาจไม่ใช่ดังแบบนานาชาติ แต่เขาก็ดังในประเทศ ดังในวงการดนตรีของเขา แต่คนไทยอาจจะไม่รู้จัก เรามีคอมโพสเซอร์ในแนวTraditional Music ของแต่ละประเทศมาทำงานด้วยกัน ไม่มีค่าย แต่ว่าเป็นคนที่สามารถเขียนเพลงเพลงเดียวกันให้เวียดนามเล่นเพลงไทยเดิมของไทยได้ เขียนโน้ตดนตรีให้แต่ละประเทศเล่นได้ ผมว่ามันยิ่งใหญ่กว่าการแต่งเพลงป็อปแล้วไปดัง วงนี้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมของทุกประเทศในอาเซียน ขณะที่รัฐบาลเกาหลีทุ่มเงินมากในการสร้างวงดนตรีวงนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะมีเสียงรวมของคนอาเซียน ด้วยแนวความคิดว่าเราควรเลิกใช้ดนตรีที่เป็นซิมโฟนีซะที ซึ่งมันไม่ได้มีความหมายอะไร เพราะเล่นยังไงมันก็เก่งสู้วงของลอนดอน ของนิวยอร์ก ของเบอร์ลินไปไม่ได้ แต่มันไม่มีออเคสตราวงไหนในโลกที่สีซอ ตีระนาด เล่นกาเมลัน หรือเล่นเพลงของใครก็ได้ในโลกนี้ หรืออย่างเพลง “ดายุง ซัมปัน” (Dayung Sampan) พูดชื่อนี้ออกไปไม่มีใครรู้จักหรอก แต่ถ้าร้องโน้ตมันออกมา จะร้องอ๋อกันเลย เรารู้จักเพลงนี้จาก “เถียนมีมี่” รู้ไหมว่ามันเป็นเพลงของใครมันเป็นเพลงที่เติ้งลี่จวินขับร้อง นั่นคือสิ่งที่คนทั่วไปรู้ แต่ต้นกำเนิดมันไม่ได้เกิดที่จีนหรือไต้หวัน มันเกิดขึ้นที่บ้านเรา เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ มาเลย์ ดายุง คือการเดินทาง ซัมปันคือเรือ เป็นเพลงพื้นเมืองของคนที่อยู่ในมาเลย์ สิงคโปร์ แล้วก็ร้องเป็นภาษาจีนมาเลย์มาก่อน จนกระทั่งเมื่อปี 1977 เขาเอาไปทำเป็นสากลแล้วก็ให้เติ้งลี่จวินร้องเป็นเนื้อจีนกลาง แมนดาริน ก็กลายเป็นเพลงดังของโลกเพลงหนึ่ง นี่คือตัวอย่างภารกิจของเราที่จะสืบเสาะค้นคว้าให้คนได้รู้ว่า จริงๆ แล้วเรามีอะไรดีเยอะมากนะ เพียงแต่เราไม่รู้คุณค่ามันน่ะ • พูดอย่างถึงที่สุด แล้วเราจะยังไงดีกับเสาที่น่าสงสารเสาที่สามของเออีซีอย่างเรื่องศิลปวัฒนธรรมหรือกระทั่งดนตรีนี้ อาเซียนคัลเจอร์ ก็นักการเมืองก็มีหน้าที่ทำน่ะ ทำให้มันดูมีคุณค่า มีราคา มีความน่าเคารพ จัดการเชิดชูกันไปบ้าง จัดวิธีการลำดับมายาคติกันใหม่ ในนโยบายนู่นนี่นั่น แต่ถ้าจะถามผมว่าต้องทำยังไง ผมว่า ลบมันทั้งสามเสาออกไปเลย เลิกตั้งเสา มาอยู่ในพื้นราบเสมอกัน แล้วก็มาเรียนรู้กันจริงๆ ว่า อาเซียน มันไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้โดยภาครัฐและเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ว่าภาคประชาชนมีส่วนสำคัญอยู่ตลอดเวลา ควรเปิดพื้นที่ให้เขาทางวัฒนธรรม ทั้งกระแสหลักกระแสย่อยก็เปิดพื้นที่จริงๆ ให้เขาได้เรียนรู้ แต่ว่าเรื่องพวกนี้มันถอยหลังไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันถูกล้างสมองกันมานาน หลงทางเดินกันมาแล้วนี่นา ก็ต้องหาทางต่อไป อย่าให้บาดเจ็บรบรากันด้วยเรื่องงี่เง่าก็เป็นพอ ก็อยากให้สังเกตบรรดาพวกรุ่นใหญ่ อย่างเช่น การเข้ามาของกลุ่มจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวลาจะประชุมอาเซียนซัมมิตที คุณก็ไม่ได้มีศักดิ์ศรีเท่าไหร่ เพราะมันเป็นอาเซียนพลัสทรีอยู่ตลอด แล้วก็จะพลัสโน่นพลัสนี่ ประชากรของจีนเยอะกว่าทั้งภูมิภาคอาเซียนรวมกันด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เราก็ไปเรียนรู้สิ่งที่จีนเขาทำได้ไหม เรียนรู้ว่าเศรษฐกิจที่เขาทำทุกวันนี้ วัฒนธรรมเขาก็เป็นสายแข็งที่สุดในโลกเหมือนกัน ภาษาเขายังเป็นภาษายิ่งใหญ่อยู่ ศิลปะของเขายังเป็นโมโนโครม monochrome พู่กันจีนจุ่มสีน้ำสีเดียว วาดลงไปบนกระดาษโดยไม่ร่าง ออกจากใจเลย แต่มันให้ความหมายลึกซึ้งมหาศาลและไม่ต้องประดิดประดอยอะไรมากมาย ลากพู่กันครั้งเดียวเป็นต้นไผ่เป็นพระจันทร์ เป็นอะไรต่างๆ คุณสามารถเรียนรู้จากเรื่องพวกนี้ได้มั้ย หรือบทกวีจีน เขาเขียนน้อยแต่ให้ความหมายเยอะ ในขณะที่เราต้องเพลงยาว ประดิดประดอยกันเป็นมหากาพย์ สดุดี อาศิรวาท พรรณาโวหารกันมากมาย แล้วก็อ่านไม่รู้เรื่องกัน เช่นเดียวกัน ดนตรีของจีน มันเรียบง่าย แต่มันมีพลังอะไรบางอย่าง เพราะพลังมันไม่ได้มาจากเรื่องของการต้องคอมโพสเป็นมหาดุริยางค์ขนาดใหญ่ยักษ์ ต้องมีซิมโฟนี เสียงฉิน พิณโบราณของจีน ไม่กี่ตัวโน้ต แต่พลังมันเหลือเฟือ เพราะมันเรียนรู้ที่จะอยู่กับรากเหง้าธรรมชาติมาก่อน แล้วมันก็ทดลองกับตัวเอง กับประวัติศาสตร์มาเยอะ ถ้าอาเซียนศึกษา สนใจเพื่อนบ้านด้วย สนใจรอบเอเชียด้วย คือไม่รู้ว่าจีนอินเดียเป็นพ่อแม่เราหรือเปล่า แต่สอนอะไรเราได้เยอะ คนฉลาดที่สุดในโลก ก็เกิดในจีนและในอินเดีย เรารับศาสนาเขามา รับแนวคิดเขามา แต่เราปฏิเสธดนตรี เราปฏิเสธสิ่งที่มันเป็นแก่นลึกๆ ในทางจิตวิญญาณของเขา เรารู้จักโมสาร์ต บีโธเฟน เรารู้จักเลดี้ กาก้า มากกว่ารู้จักดนตรีของระวี แชงการ์ (Ravi Shangkar) เป็นไปได้ยังไง ทั้งๆ ที่เขายิ่งใหญ่มากเลยนะเสียงซีตาร์ของเขานี่ ปราบพวกจิมมี่ เฮนดริกซ์ ปราบบีเทิลส์อยู่หมัด ปรัชญาดนตรีอินเดียจีน มันยิ่งใหญ่มาก แต่จีนก็ยังเป็นเจ๊ก อินเดียยังเป็นแขกชั้นต่ำอยู่ในความรู้สึกของเรา • ความขัดแย้งอาจยังไม่จางสิ้น แต่อย่างที่อาจารย์บอกว่า ดนตรีมีอิทธิพล คำถามก็คือ เราจะใช้อิทธิพลของดนตรีตรงนี้อย่างไรในการนำทางไปสู่สันติระหว่างกัน อาเซียนมันจะอยู่ด้วยกันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น